Strong ไปกับสคร.4
ตอน ระวัง !! โรคหัด ป้องกันได้ ด้วยวัคซีน
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี (สคร.4 จ.สระบุรี) เตือนผู้ปกครองขอให้นำบุตรหลานของท่าน ไปรับวัคซีนหัด (MMR) ตามกำหนด เข็มแรกอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองอายุ 2 ปีครึ่ง เพื่อป้องกันโรคหัดในเด็ก หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและควรหยุดเรียนหรือหยุดงานจนถึง 4 วันหลังจากมีผื่นขึ้นและหากจำเป็นต้องไปในที่ชุมชนในช่วงที่มีอาการป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
จากการรายงานข่าวการระบาดของโรคหัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคหัดแล้วกว่า 1,000 ราย ในปี 2559 ประเทศไทยเริ่มพบผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อนและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยในปี 2561 พบผู้ป่วย 2,926 ราย เสียชีวิต 23 ราย และในปี 2562 นี้ (ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 62) พบผู้ป่วยแล้ว 3,928 ราย เสียชีวิต 11 ราย จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 84 ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่แน่ใจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นอย่างมาก โรคหัดในประเทศไทยแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ สำหรับในพื้นที่อื่นของประเทศ พบในกลุ่มประชากรวัยแรงงาน อายุ 20-40 ปี ที่อยู่รวมกันหมู่มาก เช่น ในเรือนจำ ค่ายทหาร โรงงาน สถานประกอบการ และสถานบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังพบในเด็กต่างด้าวและบุคคลไร้สิทธิ์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
เขตสุขภาพที่ 4 พบผู้ป่วย 141 ราย อัตราป่วย 2.66 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดนครนายกมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาจังหวัดปทุมธานี สิงห์บุรี สระบุรี นนทบุรี อยุธยา ลพบุรี และอ่างทอง (อัตราป่วย 10.04, 4.64, 2.85, 2.50, 2.46, 0.74, 0.53, 0.35 ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ) จากการสอบสวนโรคหัดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานในโรงงานและเป็นชาวต่างด้าว ซึ่งไม่มีประวัติการรับวัคซีนโรคหัด
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles morbillivirus) เชื้อนี้ตรวจพบในโพรงจมูกและลำคอของผู้ป่วย
ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหัด จากการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย
อาการของโรคหัดคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ บางรายตาแดง ตาแพ้แสง ถ่ายเหลว มีจุดขาวๆ เล็กๆ ที่กระพุ้งแก้ม หลังจากมีไข้ประมาณ 3-4 วัน จะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น มักเริ่มจากใบหน้าบริเวณชิดขอบผมและร่างกาย เมื่อผื่นขึ้นประมาณ 1-2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ส่วนใหญ่ผื่นจะจางหายไป ประมาณ 2 สัปดาห์ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น สมองอักเสบ อุจจาระร่วง ปอดบวม โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ใหญ่สามารถป่วยเป็นโรคนี้และสามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประวัติการรับวัคซีนโรคหัด
โรคหัดไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ หรือยาแก้ไอ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำบ่อย ๆหากมีอาการไอมาก หอบเหนื่อย ไข้สูง ซึมลง หรือรับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพบแพทย์ ถึงแม้จะไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แต่เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งประเทศไทยให้วัคซีนโรคหัดตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตั้งแต่ปี 2527 แก่เด็กอายุ 9 เดือน ต่อมาในปี 2539 ได้เพิ่มการฉีดวัคซีนโรคหัดเข็มที่สอง รวมถึงปัจจุบันได้กำหนดให้มีการเก็บตกเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เมื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ถึงแม้ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดโดยรวมจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังพบว่าเด็กบางกลุ่มได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ในปีงบประมาณ 2562 นี้ กรมควบคุมโรค โดยกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ได้ดำเนินโครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปี ทั่วประเทศ พ.ศ.2562-2563 ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย เพื่อรณรงค์ให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กไทยและเด็กต่างด้าวช่วงอายุดังกล่าวที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย ยกระดับภูมิคุ้มกันโรคหัดในเด็กให้สูงขึ้น เพียงพอต่อการป้องกันการป่วยและการระบาดของโรคหัด โดยให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี
ดังนั้น จึงขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบการได้รับวัคซีนของบุตรหลาน หากพบว่ายังได้รับไม่ครบสองเข็ม ให้ติดต่อสถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านเพื่อนำบุตรหลานของท่าน ไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด เข็มแรก เด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองอายุ 2 ปีครึ่ง หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและควรหยุดเรียนหรือหยุดงานจนถึง 4 วัน หลังจากมีผื่นขึ้น หากจำเป็นต้องไปในที่ชุมชนในช่วงที่มีอาการป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี เบอร์โทรศัพท์ 036-239-302 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ Facebook : https://www.facebook.com/dpc4saraburi